งานวิจัยจากประเทศสวีเดนในวารสาร The British Medical Journal พบว่าผู้เข้าร่วมวิจัยที่มีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อน้อยมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่า 50% เมื่อเทียบกับกลุ่มตัวอย่างแข็งแรงกว่า

แนวโน้มเป็นเช่นเดียวกันกับในผู้ป่วยมะเร็งที่พบว่ายิ่งมีความแข็งแรงมากกว่า ยิ่งมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่มวลกล้ามเนื้อไม่แข็งแรง

โดยงานวิจัยฉบับนี้ใช้เวลากว่า 18 ปีในการรวบรวมข้อมูลจากอาสาสมัคร 8672 คน

นอกจากความแข็งแรงจะมีผลต่ออัตราการเสียชีวิตแล้ว การศึกษาจาก David Geffen School of Medicine, Los Angeles, California, USA ในปี 2014 พบว่ามวลกล้ามเนื้อก็มีความสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตในทุก ๆ สาเหตุด้วยเช่นกัน

โดยเฉลี่ยแล้วพอเราอายุ 40 ขึ้นไป ร่างกายจะค่อย ๆ สูญเสียมวลกล้ามเนื้อและความแข็งไปเรื่อย ๆ ตามอายุที่มากขึ้น

เมื่อเราอายุ 50 ปี เป็นต้นไปเราจะเสียมวลกล้ามเนื้อไปปีละประมาณ 1-2% และเสียความแข็งแรงไปถึงปีละ 1.5-5%

นั่นหมายความว่ายิ่งเราอายุมากขึ้นเราจะยิ่งเสี่ยงต่อภาวะที่เรียกว่า “Sarcopenia” หรือ “ภาวะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ”

สาเหตุที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่า พอเราอายุมากขึ้น ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน อย่างเช่น การลดลงของฮอร์โมน Testosterone และ Estrogen ซึ่งเป็นฮอร์โมนมีผลต่อการรักษาขนาดมวลกล้ามเนื้อและความแข็งแรง ประกอบกับการฝ่อลงของเซลล์ประสาทสั่งงานตามอายุ ทำให้พอเรายิ่งแก่ขึ้น เราก็จะไม่ค่อยอยากมี Physical Activity เท่าไหร่ เหนื่อยง่ายขึ้นทั้ง ๆ ที่ใช้ชีวิตประจำวันเหมือนเดิม พอกล้ามเนื้อไม่ค่อยได้ถูกใช้ ยิ่งทำให้เรามีโอกาสเสียมวลกล้ามเนื้อมากขึ้น

นอกจากนี้พอเราอายุเยอะขึ้น กล้ามเนื้อน้อยลง ทำให้การตอบสนองต่อโปรตีนแย่ลงไปอีก (เมื่อนกินโปรตีนปริมาณเท่าเดิม) กลายเป็นวงจรอุบาทแบบนี้ไปเรื่อย ๆ

ถามว่า แก่แล้ว มวลกล้ามเนื้อน้อยลงตามธรรมชาติ มันไม่ดียังไงกันล่ะ?

อะหืม เยอะแยะครับ

ภาวะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อเพิ่มความเสี่ยงการล้มและกระดูกหักในผู้สูงอายุ

ภาวะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง และภาวะสมองเสื่อม

ภาวะนี้ยังทำให้เสี่ยงต่อการนอนโรงพยาบาลมากขึ้น และเพิ่มค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลมากกว่าคนที่ไม่ได้มีภาวะนี้ถึง 2-5 เท่า

Sarcopenia ทำให้สมรรถภาพการใช้ชีวิตประจำวันด้อยลง ส่งผลให้คุณภาพชีวิตแย่ลงไป

แต่! เรื่องยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะว่าเมื่อเราอายุมากขึ้นแล้วไม่ได้มีแค่กล้ามเนื้อที่หายไปเท่านั้น แต่กระดูกของเราก็ไม่เว้นเช่นกัน

คนส่วนใหญ่เมื่อเมื่อเราอายุ 25-30 ปี ร่างกายจะถึงจุดสูงสุดของการสร้างมวลกระดูกถึงจุดแล้ว และหลังจากนั้นเราจะค่อย ๆ สูญเสียมวลกระดูกไปตามอายุเรื่อยๆ

โดยผู้ชายจะเสียมวลกระดูกไปปีละ 0.3% ส่วนผู้หญิงจะเสียมวลกระดูกปีละ 0.5% โดยเฉลี่ย นอกจากนี้หากประจำเดือนหมด ฮอร์โมน Estrogen ลดลง จะทำให้เสียมวลกระดูกไวขึ้นไปอีกเป็นปีละ 2-5%

และเมื่อเราเสียมวลกระดูกสะสมมากขึ้น จะทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน หรือ (Osteoporosis) ได้

ซึ่งโรคนี้ตามชื่อตรงตัวคือโรคที่เกิดจากการที่มวลกระดูกในร่างกายของเราลดลง ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเปราะหักได้ง่าย สาเหตุเกิดได้จากสองปัจจัยหลัก ๆ

  1. ฮอร์โมนร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลง

โดยปกติแล้วร่างกายจะมีการสร้างและสลายมวลกระดูกตลอดเวลา (Bone Formation & Bone Resorption)

ถ้าสร้างมากกว่าสบาย -> มวลกระดูกจะมากขึ้นและแข็งแรงขึ้น

ส่วนถ้าสลายมากกว่าสร้าง -> มวลกระดูกจะบางลงและอ่อนแอลง

ซึ่งพวกนี้ส่วนใหญ่จะถูกควบคุมด้วยฮอร์โมนเพศเป็นหลัก

เมื่อเราอายุมากขึ้น ฮอร์โมนเพศก็จะลดลงทำให้การสร้างกระดูกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

โดยเฉพาะในผู้หญิงอายุมาก เพราะหลังจากหมดประจำเดือน ผู้หญิงจะหลั่งฮอร์โมนเพศหญิงที่ชื่อว่า Estrogen ออกมาน้อยลงมาก โดยฮอร์โมนนี้เป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยลดการสลายมวลกระดูก ประกอบกับผู้หญิงมีมวลกระดูกจากเดิมน้อยกว่าผู้ชายมาก่อนอยู่แล้ว ทำให้ผู้หญิงเสี่ยงต่อภาวะนี้มากกว่าผู้ชายค่อนข้างมาก (แต่ผู้ชายอายุเยอะก็เกิดได้นะครับ)

2. อายุ

อายุเป็นอีกสาเหตุที่คำอธิบายที่มายังไม่แน่ชัดครับ แต่นักวิจัยเค้าให้ข้อสรุปมันเกิดจากการกระตุ้นด้วยปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ หลาย ๆ อย่างรวมกัน อย่างเช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การใช้ Lifestyle แบบนั่ง ๆ นอน ๆ การทานโปรตีนไม่เพียงพอ โรคตับเรื้อรัง หรือยาบางตัว เป็นต้น

ส่งที่น่ากลัวคือ โรคนี้ส่วนใหญ่ไม่มีอาการครับ

โรคนี้จึงเป็นภัยเงียบที่ต้องเฝ้าระวังเป็นอย่างมาก เพราะว่าในผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกบาง หรือกระดูกพรุน จะเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักได้ง่ายขึ้นกว่าคนทั่วไปมาก เเม้กิจกรรมที่ทำจะมีแรงกระแทกนิดเดียว อย่างการไอ จาม เบ่ง การสะดุดชนของแข็งในบ้านเฉย ๆ แค่นี้ก็ทำให้กระดูกหักได้

ซึ่งการที่กระดูกหักตอนเราอายุเยอะแล้วถือเป็นเรื่องที่อันตรายมากครับ เพราะว่าอัตราการตายถือว่าสูงมาก

หากกระดูกชิ้นใหญ่หัก แล้วต้องนอนติดเตียง จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้ นำไปสู่การพิการถาวร ต้องใช้เครื่องช่วยพยุงการเดิน เสียการใช้ชีวิตประจำวันไป หรือแม้กระทั้งเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จากการติดเตียง/นอนโรงพยาบาลนานได้

ผู้ป่วยที่กระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนจะมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนปกติถึง 8 เท่า โดย 18% ของผู้ป่วยเสียชีวิตภายใน 1 ปี และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในทุก ๆ ปี

30% พิการถาวร

40% ไม่สามารถเดินได้ หรือต้องใช้เครื่องช่วยพยุงในการเดิน

80% ไม่สามารถทำใช้ชีวิตได้เหมือนก่อนกระดูกหัก

อัตราการเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไปถึง 9.3 เท่า และ 21% ของผู้ป่วยที่กระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนจะเสียชีวิตใน 1 ปี

และหากคุณยังจำได้ ถ้าเรารวมทั้งสองภาวะนี้เข้าด้วยกัน นั่นคือภาวะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ และโรคกระดูกพรุน จะเห็นได้ว่าหากเราอายุเยอะขึ้น แล้วปล่อยให้กล้ามเนื้อและกระดูกเสื่อมสภาพไปเรื่อย ๆ จนเราไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้คล่องแคล่วเหมือนเดิม มีแรงน้อยลง เราจะเสี่ยงต่อการล้ม หรือเกิดอุบัติเหตุอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น เมื่อกระดูกหักเราก็จะเสี่ยงต่อการนอนโรงพยาบาลนานขึ้น และยิ่งถ้านอนติดเตียงนาน ๆ ก็ยิ่งเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ มากขึ้น จนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ไม่แพ้กับโรคปอดเรื้องรัง เส้นเลือดในสมองตีบ หรือโรคหัวใจเลยครับ

ดังนั้นภาวะ Osteosarcopenia (ภาวะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อและกระดูก) จึงถือเป็นภัยเงียบที่น่ากลัวไม่แพ้ไปกว่าโรคอื่น ๆ เลย

การหันมาใส่ใจกับการป้องกันสองภาวะนี้จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมาก

ทีนี้ถามว่า เราป้องกันมันได้ไหม?

ตอบแบบตามตรงเลยก็คือความชราภาพเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ บางคนกรรมพันธุ์ดีกว่าคนทั่วไปก็รอดไป บางคนกรรมพันธุ์ไม่ดีแล้วยังสูบบุหรี่จัด ปล่อยน้ำหนักตัวเยอะ ไม่ออกกำลังอีก ก็คงหนีไม่พ้นครับ

อย่างไรก็ตามถึงแม้เราจะหลีกเลี่ยงมันไม่ได้ แต่เราชะลอและลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคได้ครับ

คุณสามารถใช้ชีวิตในวัยชราอย่างแข็งแรงและมีความสุขได้ ถ้าคุณใส่ใจร่างกายตั้งแต่เนิ่น ๆ

และนี่คือเหตุผลหลักที่ผมอยากแนะนำและเชิญชวนทุกคนให้หันมาออกกำลังกายแบบมีเเรงต้าน (Weight resistance training) หรือ “ยกเวท” กันมากขึ้น นอกจากการทำคาร์ดิโอเพียงอย่างเดียวครับ

cardio walk run

แล้วคาร์ดิโออย่างเดียวทำไมถึงไม่พอหรอ?

คำตอบก็คือถึงแม้ว่าการคาร์ดิโอไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง เดิน หรือว่ายน้ำ จะเป็นการออกกำลังกายที่ทำกันอย่างแพร่หลายอยู่แล้วสำหรับคนที่ใส่ใจในสุขภาพตนเอง ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพและช่วยลดการเกิดโรคไปได้หลากหลายสารพัดโรคนะครับ แต่การคาร์ดิโอเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่เพียงพออย่างแน่นอนต่อการป้องกันภาวะ Osteosarcopenia (ภาวะสูญเสียกระดูกและกล้ามเนื้อ)

เหตุผลก็เพราะการคาร์ดิโอเป็นการออกกำลังกายแบบ Aerobic Training ที่เน้นพัฒนาความแข็งแรงของหัวใจ และปอดเป็นหลัก

ดังนั้นการคาร์ดิโอมันมีผลน้อยมากครับต่อการช่วยให้กล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรงเนื่องจากกล้ามเนื้อที่ถูกฝึกขณะคาร์ดิโอคือใยกล้ามเนื้อชนิดที่ 1 (Muscle Fiber Type 1) เป็นส่วนใหญ่ซึ่งเป็นใยกล้ามเนื้อที่มีขนาดเล็ก แรงได้น้อย หดตัวช้า แต่ข้อดีคือทนทาน ใช้งานได้นาน

ในขณะที่ใยกล้ามเนื้อชนิดที่ 2 (Muscle Fiber Type 2) ที่ถึงแม้จะเหนื่อยง่าย ล้าง่าย ใช้ได้แปปเดียว แต่ก็มีขนาดใหญ่กว่า หดตัวเร็ว แรงเยอะกว่า

การที่เรามีใยกล้ามเนื้อชนิดที่ 2 มากขึ้นจะทำให้เรามีแรงเยอะขึ้น ทำให้ทรงตัวดีขึ้น ทำอะไรกระฉับกระเฉงมากขึ้น และเดินได้คล่องแคล่วมากขึ้น

ซึ่งการคาร์โอไม่ได้ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อชนิดที่ 2 เท่าไหร่นัก เพราะ การคาร์ดิโอไม่ได้ต้องออกแรงต้านน้ำหนักทำให้ไม่มีสัญญาณกระตุ้นที่ทำให้เกิดการสร้างกล้ามเนื้อ (Muscle Protein Synthesis) ที่แรงมากพอนั่นเอง

ดังนั้น ถ้าอยากกล้ามใหญ่และแข็งแรง มันต้องเวทเทรนนิ่ง!

แต่ ๆ ๆ! นอกจากเรื่องกล้ามแล้วเวทเทรนนิ่งยังให้ประโยชน์กับร่างกายอื่น ๆ อีก 5 ข้อดังนี้ครับ!

5 สรรพคุณที่เวทเทรนนิ่งให้คุณมากกว่าแค่กล้าม

1. เวทเทรนเพิ่มความแข็งแรงของมวลกระดูก

หากเราพูดถึงเรื่องการเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกแล้วล่ะก็ เวทเทรนนิ่งยิ่งจำเป็นใหญ่เลยล่ะ!

อย่างที่ผมกล่าวไปเมื่อตอนแรกว่า มวลกระดูกจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงนั้นขึ้นกับสมดุลระหว่าง การสร้างและการสลายมวลกระดูก (Bone Formation vs Bone Resorption) ครับ

เซลล์ที่ทำหน้าที่หลักในการสร้างชื่อว่า Osteoblast ส่วนเซลล์ที่ทำหน้าที่ในการสลายมวลกระดูกชื่อว่า Osteoclast

โดยกระดูกก็เหมือนกล้ามเนื้อนั่นแหละครับ มีการสร้างและการสลายตลอดเวลา เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกเมื่อถูกกระตุ้น และเพื่อเพิ่มระดับแคลเซียมในเลือดตามความต้องการของร่างกายในบางช่วง

ซึ่งการยกน้ำหนักนั้นจะไปยับยั้งการทำงานของโปรตีนที่ชื่อว่า Sclerostin ซึ่งเป็นโปรตีนที่หลั่งจากเซลล์กระดูกมีหน้าที่ยับยั้งการสร้างกระดูก การยกน้ำหนักจึงเป็นตัวการทำให้การทำงานของ Osteoclast ลดลงครับ หรือเท่ากับว่าลดการสลายกระดูกนั่นเอง

โดยมีงานวิจัยออกมาสนับสนุนการยกน้ำหนักว่าช่วยให้มวลกระดูกเพิ่มมากขึ้นได้ แถมยังเพิ่มความแข็งแรงของเนื้อกระดูกอีกด้วย

เพราะฉะนั้น ยิ่งกล้ามเนื้อและกระดูกของเราแข็งแรงมากเท่าไหร่ เราก็จะชะลอภาวะ Osteosarcopenia ไปได้มากยิ่งขึ้น!

Ernestine Shepherd
picture source: ernestineshepherd.net

2. ยิ่งมวลกล้ามเนื้อเยอะ ยิ่งช่วยลดอัตราการล้มในผู้สูงอายุ

การล้มในผู้สูงอายุนั้นเป็นสิ่งที่อันตรายมาก

ยิ่งถ้ากระดูกไม่แข็งแรง เป็นภาวะ Osteopenia จะยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิต และความพิการอย่างที่กล่าวไว้ในข้างบน

โดยการศึกษาจาก Journal of Gerontology, Oxford Academic ในปี 2013 พบว่าผู้สูงอายุที่เข้าโปรแกรม Weight Resistance training เป็นระยะเวลา 24 สัปดาห์ มีมวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น และทำแบบทดสอบสรรถภาพการลุกนั่งได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (Sit-to-stand test)

Sit-to-stand Test เป็นแบบทดสอบที่เอาไว้ใช้ประเมินความเสี่ยงต่อการล้ม ผู้ถูกทดสอบจะได้ลุก-นั่งเก้าอี้โดยเอามือกอดอกไว้ ติดต่อกัน 5 ครั้ง ถ้าใช้เวลามากกว่า 15 วินาที แปลว่ามีความเสี่ยงในการหกล้ม

นอกจากนี้งานวิจัยจากสหรัฐในปี 2000ยังบอกอีกว่าการเอาเวทเทรนนิ่งเพิ่มเข้าไปในโปรแกรมการออกกำลังกายจะช่วยป้องกันการล้มได้มากกว่า 3 เท่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ออกกำลังกายในผู้สูงอายุ

3. เวทเทรนนิ่งลดความเสี่ยงการเกิดภาวะสมองเสื่อม

การศึกษาจากประเทศบราซิลในวารสาร Medicine & Science in Sports & Exercise ทำการวิจัยในกลุ่มตัวอย่างชายสูงอายุวัย 65-75 ปี โดยได้เข้าโปรแกรมเวทเทรนนิ่งเป็นระยะเวลา 24 สัปดาห์

เขาพบว่านอกจากจะได้มวลกล้ามเนื้อและความแข็งแรงที่มากขึ้นแล้ว ยังสามารถทำแบบทดสอบความจำระยะสั้นได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ออกกำลังกาย แถมยังมีภาวะความเครียด ความวิตกังวล ความเหนื่อยล้า และความสับสนน้อยลงอีกด้วย

และในงานวิจัยอีกฉบับก็พบว่ากลุ่มอาสาสมัครสูงอายุเฉลี่ย 70 ปีที่มีภาวะสมองเสื่อมระยะเริ่มแรก หลังเข้าโปรแกรมเวทเทรนนิ่งติดต่อกันเป็นระยะเวลา 6 เดือน อาสาสมัครสามารถทำแบบทดสอบความจำและ IQ ได้คะแนนดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ยกเวทอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่พบว่า การมีมวลกล้ามเนื้อน้อย (Lean Body Mass) มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมระยะเริ่มต้น และขนาดมวลที่ลดลง

เพราะฉะนั้นการยกเวท นอกจากนี้จะดีต่อกล้ามเนื้อและกระดูกแล้ว ยังดีต่อสมองของเราอีกด้วยนะ!

4. มวลกล้ามเนื้อที่มากกว่า ลดความเสี่ยงและเวลาในการนอนโรงพยาบาลมากขึ้น

ในผู้ป่วยที่มีมวลกล้ามเนื้อมากกว่าจะ ช่วยลดโอกาสในการนอนโรงพยาบาลซ้ำ การเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ และลดระยะเวลาการนอนในโรงพยาบาลเมื่อป่วยได้

เนื่องจากในคนที่มีมวลกล้ามเนื้อเพียงพอ ร่างกายจะนำโปรตีนที่กินไปถูกนำไปใช้รักษาบาดแผลมากขึ้น นอกจากนี้หากผู้ป่วยมีมวลกล้ามเนื้อสะสมมาเยอะ ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการกลับมานั่ง ลุก เดิน ช่วยเหลือตัวเองได้เร็ว ก็จะยิ่งทำให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้นจากนอนโรงพยาบาลอีกนั่นเอง

body fat percentage
ภาพจาก www.builtlean.com

5. คุณจะหุ่นดีขึ้น มั่นใจในตัวเองมากขึ้น

หลายคนเข้าใจผิดว่าหากคุณอยากจะลดไขมัน และดูลีนมากขึ้น คือคุณต้องไปคาร์ดิโอ ซึ่งการคาร์ดิโอเป็นสิ่งที่ดีครับ แต่ว่าคุณโฟกัสผิดจุด เพราะว่าการที่คุณจะหุ่นดีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับมวลกล้ามเนื้อของคุณเป็นหลัก

เพราะว่าตัวที่จะเป็นตัวชี้วัดที่ดีว่าคุณหุ่นดีหรือไหมนั้นขึ้นอยู่กับ %Body Fat ครับ

ยิ่งคุณมีมวลกล้ามเนื้อมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้เปอร์เซ็นไขมันของคุณน้อยลงมากขึ้นเท่านั้น และเวทเทรนนิ่งคือเครื่องมือที่ดีที่สุดในการเพิ่ม/รักษามวลกล้ามเนื้อนั่นเอง


Bottomline

ความชราภาพนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ภาวะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อและกระดูกเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และเป็นภัยเงียบที่ทำให้เกิดความพิการ หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ครับ

การคาร์ดิโออย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอต่อการสร้างมวลและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก

การสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูกเอาไว้ก่อนด้วยเวทเทรนนิ่งในขณะที่เรายังอายุน้อยจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

เวทเทรนนิ่งไม่ได้เป็นอันตรายต่อตัวเราแต่อย่างใด หากเราทำมันตั้งแต่เนิ่น ๆ และถูกต้อง

เวทเทรนนิ่งให้คุณนอกจากกล้ามเนื้อแล้ว ยังเป็นประกันคุณภาพชีวิตของคุณ และคนในครอบครัวในอนาคต

หากใครยังไม่ได้ออกกำลังกาย รีบออกตั้งแต่ตอนนี้ได้แล้ว!

ส่วนใครคาร์ดิโออย่างเดียว เพิ่มการออกกำลังกายแบบมีแรงต้านเพิ่มเข้าไปในตารางของคุณด้วย!

ส่วนใครทำที่ทุกอย่างอยู่แล้วขอให้คุณทำให้มันต่อไปเรื่อย ๆ จนเป็นมันเป็น Lifestyle ของคุณ

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านทุกท่านครับ