เรามักได้ยินแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แนะนำให้ผู้ป่วยโรคไตหลาย ๆ คนลดปริมาณการกินโปรตีนเพื่อให้ไตไม่ทำงานหนักขึ้น และป้องการเสียสภาพไตไปมากกว่าเดิม
ซึ่งหลาย ๆ คนพอได้ยินแบบนี้ เข้าใจมาแบบนี้ จึงมักมาบอกกับชาวฟิตเนส สายยกเหล็ก อัดโปรตีนกันเยอะ ๆ ว่า…
“เห้ย! กินโปรตีนเยอะ ระวังจะเป็นโรคไตนะ!”
ซึ่งการกินโปรตีนเยอะ ๆ มันเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่แล้วสำหรับคนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อการซ่อมแซ่มกล้ามเนื้อให้กลับมาซ้อมได้ และเพื่อเอาไว้ใช้ในการเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ (ซึ่งผมเชื่อตรงนี้ทุกคนรู้ดี)
แต่ถ้าเรามองในแง่ของสุขภาพล่ะ? เราต้องแลกความเสี่ยงการเป็นโรคไตเรื้อรังกับการเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ จริง ๆ หรือ?
ถ้าอยากรู้อ่านต่อด้านล่างนี้ได้เลยครับ
โปรตีนเกี่ยวอะไรกับโรคไต?
ปกติแล้วของเสีย สารเคมี หรือแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ร่างกายไม่ต้องการแล้ว จะถูกขับออกมาทิ้งไว้ในกระแสเลือด เพื่อให้กระแสเลือดส่งของเสียเหล่านี้ไปที่กลุ่มเลือดฝอยที่ไต เราเรียกมันว่า “Glomerulus” โดยมันจะทำหน้าที่ในการกรองของเสียออกมาจากเลือด (Glomerular filtration) แล้วขับทิ้งออกไปเป็นปัสสาวะ
ซึ่งนักวิจัยเขามีแนวคิดว่าการกินโปรตีนในปริมาณมากจะทำให้กระแสเลือดเข้าไปในไตเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ Glomerulus ในไตต้องทำงานหนักขึ้น มีการปรับตัวเพื่อกรองของเสีย (Nitrogenous waste products) ที่ได้จากการย่อยสลายโปรตีนในเลือดมากขึ้นออกไปเป็นปัสสาวะ เราเรียกการปรับตัวนี้ว่า “Glomerular hyperfiltration” ครับ
ผลที่น่าจะตามมาคือขนาดของไตใหญ่ขึ้นจากการถูกใช้งานที่เพิ่มเข้ามา คล้าย ๆ กับเวลาที่เราเล่นกล้าม เวลากล้ามเนื้อทำงานหนักขึ้น มันก็จะปรับตัวเพื่อรองรับกับงานที่เราใช้มันทำนั่นเอง
พอไตต้องรับภาระในการกรองของเสียที่เพิ่มเข้ามานาน ๆ เข้า จึงอาจทำให้เกิดความเสียหายต่าง ๆ ต่อโครงสร้างในไตตามมาได้ ซึ่งพอโครงสร้าง ตัวประกอบต่าง ๆ ในไตเสีย ทำให้ส่วนที่เหลือที่ยังทำงานได้ดีต้องทำงานหนักมากขึ้น พอทำให้หนักขึ้นโครงสร้างก็เสียอีก
เกิดเป็นวงจรอุบาทว์ที่ทำให้ไตเสื่อมสภาพลงเรื่อย ๆ จากการรับประทานโปรตีนที่มากเกินไปนั่นเอง
ซึ่งประเด็นนี้ได้ถูกนำมาศึกษาเพิ่ม โดยจากงานวิจัยในปี 2014 มหาวิทยาลัย Vienna ได้รวบรวมงานวิจัยเกี่ยวกับการกินโปรตีนสูงเปรียบเทียบกับการกินโปรตีนในปริมาณปกติว่ามีความสัมพันธ์อย่างไรกับการทำงานของไต
โดยในงานวิจัยฉบับนี้เขาได้รวบรวมการศึกษาไว้ทั้งหมด 30 ฉบับแล้วนำมาวิเคราะห์ ผลลัพธ์ที่ได้พบว่า การกินโปรตีนสูงมีความสัมพันธ์กับการทำงานของไตที่เพิ่มมากขึ้น (Glomerular Filtration Rate หรือ GFR)
งานวิจัยอีกฉบับโดย Johnson และคณะในปี 2003 ประเทศออสเตรเลีย ได้ทำการสำรวจผู้ป่วยโรคไตที่ได้รับการฟอกไตผ่านทางหน้าท้อง ได้ผลพบว่าผู้ป่วยดรคไตที่ทานโปรตีนเยอะมีความสัมพันธ์กับการทำงานของไตที่แย่ลง โดยเขาพบว่าการกินโปรตีนเพิ่มขึ้นทุก 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว (kg.) ต่อวัน จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการปัสสาวะไม่ออก (Anuria) เพิ่มขึ้น 2.87 เท่า
ซึ่งผลลัพธ์ตรงนี้ก็สอดคล้องกับ Meta-analysis (งานวิจัยที่ศึกษางานวิจัยหลาย ๆ ฉบับในหัวข้อเดียวกัน) ในปี 2009 โดย Denis Fouque และ Maurice Laville ที่พบว่าในกลุ่มตัวอย่างคนไข้โรคไตเรื้อรังที่ลดการกินโปรตีน มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคไตลดลงถึง 32% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่กินโปรตีนสูงกว่า
ข้อมูลมาอย่างนี้แล้ว สรุปต่อไปนี้เราควรที่จะระมัดระวังการกินโปรตีนให้มากขึ้นถ้าไม่อยากทำให้ไตทำงานหนักเกินไป ใช่หรือเปล่านะ?
หรือถ้าเกิดว่าเราต้องการที่จะเพิ่มมวลกล้ามเนื้อจริง ๆ (ซึ่งต้องกินโปรตีนสูงอยู่แล้ว) เราจะต้องแลกกับการเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตที่มากกว่าคนอื่นใช่ไหม?
คำตอบขึ้นอยู่กับว่า
คุณเป็นโรคไตรึเปล่าล่ะ?
เพราะถ้าคุณไม่ได้เป็นโรคไตอยู่แล้วงานวิจัยที่ผมได้อ้างอิงขึ้นมานั้นไม่สามารถใช้ได้กับคุณครับ
เหตุผลก็เพราะเวลาเราอ่านงานวิจัย โดยเฉพาะงานวิจัยที่ทำในมนุษย์ สิ่งหนึ่งที่เราต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกเลยก็คือ “Population หรือกลุ่มประชากรที่งานวิจัยนั้นต้องการศึกษา” นั่นเอง ว่ามันใช้กับเราได้ไหม
นอกจากนี้การที่ไตทำงานหนักขึ้นไม่ได้หมายความว่าเราจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตเสมอไปอีกด้วย
ยกตัวอย่างเช่น โดยปกติแล้วผู้หญิงจะมีการทำงานของไตเพิ่มขึ้นถึง 65% ในขณะที่ตนเองกำลังตั้งครรภ์ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นแบบนี้แล้วเราจะสรุปว่าผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตมากกว่าผู้หญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ใช่ไหมครับ?
คำตอบคือ ไม่ ครับ การตั้งครรภ์ไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตเรื้อรังเลย
ตัวอย่างอีกกรณีคือ ในกลุ่มคนที่เคยได้รับการผ่าตัดไตทิ้งจนเหลือไตเพียง 1 ข้างตั้งแต่เด็ก ๆ งการศึกษาพบว่าไตข้างนั้นจะมีการปรับตัวเพิ่มขนาด และเพิ่มการกรองของไตให้ทำงานหนักมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป 20 ปี ไตที่ทำงานหนักเพียงข้างเดียวก็สามารถเติบโต มีพัฒนาการ และทำงานได้ปกติดีเป็นเวลาถึง 20 ปี
สรุปคนสุขภาพดีกินโปรตีนสูง ๆ จะเสี่ยงเป็นโรคไตเรื้อรังมากขึ้นไหม?
เรามาดูงานวิจัยที่ Population น่าจะเข้ากับเรามากขึ้นกันดีกว่า
การศึกษาจากวารสาร International Journal of Sport Nutrition and Exercise Metabolism ปี 2000 ที่ได้มีการศึกษาการกินโปรตีนในกลุ่มนักกีฬาสายต่าง ๆ (มีนักกีฬาเพาะกายอยู่ในกลุ่มตัวอย่างด้วย) ซึ่งคนกลุ่มนี้มักกินโปรตีนในปริมาณมากกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว
ผลลัพธ์คือเขา ไม่พบว่าการกินโปรตีนสูงทำให้ไตทำงานได้แย่ลงแต่อย่างใด และในปัจจุบันไม่มีหลักฐานที่สนับสนุนว่ากลุ่มประชากรที่เป็นนักกีฬามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตมากขึ้นอีกด้วย
เพราะฉะนั้นการที่ไตเพิ่มการกรองของเสียมากขึ้น (Hyperfiltration, increased GFR) จึงไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเป็นโรคไตเสมอไปนั่นเอง
สุดท้ายผมขออ้างอิง Meta-analysis จากวารสาร The Journal of Nutrition – Oxford Academic ในปี 2018 ทำการศึกษางานวิจัยทั้งหมด 28 ฉบับ กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1358 คน ซึ่งงานวิจัยฉบับนี้จะต่างจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Vienna ตรงที่เขามีการวิเคราะห์งานวิจัยที่วัดค่าการทำงานของไต ก่อนและหลัง กินโปรตีนสูงด้วยว่าแตกต่างกันมากแค่ไหน
ซึ่งวิจัยนี้ช่วยตอบคำถามของเราว่า ถ้าคนปกติที่สุขภาพดี ไม่ได้มีโรคไต กินโปรตีนสูง ๆ แล้วจะทำให้ไตทำงานหนักขึ้นหรือเปล่า?
และคำตอบจากงานวิจัยนี้ก็คือ “ไม่” ครับ
ผลลัพธ์จาก Meta-analysis พบว่า การกินโปรตีนสูงไม่มีผลต่อการทำงานหนักของไตในกลุ่มประชากรที่สุขภาพดี
ดังนั้น ถ้าหากคุณกำลังเป็นโรคไต หรือมีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตเรื้อรังอย่างเช่น เบาหวาน และความดันโลหิตสูง แนะนำให้ปิดเว็บนี้แล้วปรึกษาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดีกว่าครับ
แต่ถ้าคุณเป็นคนสุขภาพดี ไม่ได้เป็นโรคไตอยู่ตอนนี้ การกังวลเรื่องการกินโปรตีนกับการเกิดโรคไตไม่ใช่สิ่งที่ที่คุณต้องคิดมากเลย เมื่อเทียบกับผลดี ๆ ที่คุณจะได้จากกินโปรตีนสูง และการออกกำลังสม่ำเสมอครับ
Key points
- การกินโปรตีนสูงในกลุ่มคนที่ไตทำงานปกติไม่ได้ทำให้เป็นโรคไต หรือทำให้ไตทำงานได้แย่ลง
- หากคุณเป็นโรคไตอยู่แล้ว ควรมีการควบคุมปริมาณโปรตีนที่ควรได้รับต่อวัน เพราะการกินโปรตีนเยอะ ๆ จะทำให้ไตทำงานหนักขึ้นในคนที่เป็นโรคไต และควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นเพื่อให้คำแนะนำด้านโภชนาการ